Tuesday, December 04, 2007

รักแห่งสยาม : ตราบใดยังมีรักย่อมมีหวัง

- วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา -


source

เราอยากทำหนังรักเหมือนคนอื่นๆ เราเก็บเล็กผสมน้อยไปนั่งมองคนที่สยาม เห็นคนเลิกกันแล้วเหมือนดู มิวสิควิดีโอ เราก็งงว่านี่มีใครไปตั้งกล้องถ่ายไว้หรือเปล่า นี่มันหนังชัดๆ เราเห็นความรักหลากหลายรูปแบบ แล้วก็เกิดคำถามว่า ทำไมคนเราต้องรักกัน?



จากคำถามนั้น ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล นำมาขยายขึ้นเป็นบทหนังเรื่องหนึ่ง ว่าด้วยเรื่องรักของ เด็กผู้ชายสองคน ที่เคยอาศัยอยู่บ้านตรงข้ามกัน มิวอาศัยอยู่กับอาม่า ที่ไม่ยอมย้ายตามครอบครัวไปอยู่ระยอง อาม่าสอนให้มิวเล่นดนตรี เพื่อให้ -วันหนึ่งจะได้ใช้เสียงเพลงบอกรักใครสักคน – เหมือนที่อากง เคยบอกอาม่าผ่านเสียงเปียโน ในขณะที่โต้ง อาศัยอยู่ในครอบครัวชาวคาธอลิค ที่อบอุ่น จนกระทั่งวันหนึ่ง แตง พี่สาวของโต้ง หายตัวไปขณะเที่ยวเชียงใหม่ หลังจากแตงหายตัวไป ครอบครัวของโต้งก็ไม่เหมือนเดิม พวกเขาย้ายไป และโต้งกับมิวก็จากกัน



จนกระทั่งทั้งคู่กลับมาพบกันหลังผ่านเวลาไปหกปี ในตอนนั้น อาม่าจากมิวไปแล้ว มิวฟอร์มวงดนตรีกับเพื่อนนักเรียน และกำลังไปได้สวย ในขณะที่โต้งอาศัยอยู่ในบ้านที่พ่อติดเหล้า และแม่พยายามเก็บทุกอย่างไว้กับตัวเพื่อประคับประคองครอบครัว หญิงเด็กที่ย้ายมาใหม่แอบชอบมิว ในขณะที่โต้งคบอยู่กับโดนัท ดาวโรงเรียน ทั้งคู่พบกันอีกครั้งกลางสยามสแควร์ จากเพื่อนเก่า ทั้งคู่ๆค่อยเรียนรู้กัน และนำพาความสัมพันธ์ไปไกลกว่าเพื่อนเล่นในวัยเด็ก ท่ามกลางคนรอบข้างที่ต่างทำทุกสิ่งด้วยความรัก หากไม่อาจแน่ใจนักว่าความรักจะนำมาซึ่งความสุขหรือความเจ็บปวดกันแน่



เสียงใจฉันเอง ร้องเพลงให้เธอฟังอยู่



ก่อนหน้านี้เรามักคุ้นชินกับ มะเดี่ยว – ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ในฐานะ คนทำหนังสยองขวัญรุ่นใหม่ที่น่าจับตามอง พิจารณาจากหนังใหญ่ สองเรื่องแรกของเขา อย่าง คน ผี ปีศาจ และ 13 เกมสยอง (ซึ่งสามารถผนวกเอา 12 เข้าไปได้ด้วย) แต่อยู่มาวันหนึ่งเขาก็ลุกขึ้นมาทำ หนังรักวัยรุ่น หากพิจารณาลำดับหนัง มันอาจชวนให้ขมวดคิ้ว ทั้งที่จริงแล้วนี่คือหนังที่เจ้าตัวอยากทำมาตั้งแต่ก่อนทำ 13 และ ติดอยู่ในใจมาตลอดหลายปี ที่สำคัญ เราอาจเรียกหนังเรื่องนี้ว่า หนังส่วนตัวของมะเดี่ยวได้อย่างเต็มปาก เพราะตัวละคร เรื่องราว ล้วนหลั่งไหลมาจากประสบการณ์ส่วนตัวของตัวผู้กำกับเอง เขาหยิบยกเรื่องของพ่อแม่ พี่สาว กระทั่งเรื่องส่วนตัว ขึ้นมาสร้างให้กลายเป็นหนังเรื่องหนึ่ง ขยายเรื่องส่วนตัวไปสู่เรื่องสากลที่คนทั่วไปร่วมรับรู้ได้



มีความจริงอยู่ในความรักตั้งมากมาย



ไม่ใช่แค่เฉพาะชื่อ หนังเรื่องนี้เป็นหนังรัก หนังรักที่เลยพ้นไปจาก ประเด็นความรัก ชายหญิง หรือกระทั่งชาย ชาย(ซึ่งทำให้หนังถูกมองเป็นหนังเกย์ไป) แทนที่จะโฟกัสความรักแบบใดแบบหนึ่ง ตัวละครในหนังกลับล้วนสะท้อนแบบจำลอง ของ -ความรัก- ทั้งในด้านบวกและลบ ความรักในหนังเรื่องนี้ อาจนิยามจากคู่ความสัมพันธ์ง่ายๆ เช่น รักวัยรุ่นชายหญิง ( มิว-หญิง , โต้ง -โดนัท) ชาย ชาย ( มิว -โต้ง) สามี ภรรยา (กร -สุนีย์ ) พ่อแม่ลูก ( กร+สุนีย์ – โต้ง+แตง , อาม่า-มิว) ความรักระหว่างเพื่อน (มิว -เพื่อน , โต้ง-เพื่อน) หรือกระทั่ง ความรักของคนแปลกหน้า ( จูน – กร + สุนีย์) แต่เลยพ้นไปกว่านั้นเราอาจพูดเสียใหม่ได้ว่า หนังให้เราเห็นทั้งความรักในรูปแบบของการพลัดพรากจากลา (การหายไปของแตง ความตายของอาม่า) ความรักแบบ PUPPY LOVE ที่หวานฉ่ำ และขมขื่นในคราวเดียว(เรื่องของหญิงกับมิว) หรือความรักที่เปราะบางและเจือด้วยการครอบครองเป็นเจ้าของ ( โต้งกับโดนัท) ความรักของเพื่อนร่วมก๊วน ( มิวกับเพื่อน) ความรักที่ถูกทดสอบจากเงื่อนไขของชีวิต ( โต้งกับมิว) ความรักของสามีภรรยาที่ยังทนอยู่ด้วยกัน (กรกับสุนีย์ และฉากไข่พะโล้อันลือลั่น) ความรักของแม่กับลูก (ฉากที่ยอดเยี่ยมมากคือฉากที่สุณีย์ขับรถตามหาลูกทั้งคืน และไม่ว่าอะไรลูกสักคำในตอนเช้า) ซึ่งไม่ได้มีแต่ด้านบวก หากยังทำร้ายได้ในอีกทาง (เมื่อสุนีย์ไปขอร้องมิวให้เลิกคบกับโต้ง) หรือกระทั่งความรักความเห็นใจในฐานะที่เพื่อนมนุษย์มีต่อกัน (จูนกับครอบครัวของโต้ง) เราได้มองเห็นว่า ตัวละครในเรื่องนี้ทุกตัว รักกันและกัน แต่ความรักของแต่ละตัวละครไม่ได้นำพามาเฉพาะแต่ความสุข หากยังนำมาซึ่งความทุกข์ของความพลัดพราก ไปจนถึง ความรักนี่เองที่ทำให้เราทำร้ายกันและกันได้อย่างมากมาย



เราอาจแบ่งตัวละครในหนังได้เป็นสองชุดความสัมพันธ์ โดยแบ่งเป็น ความสัมพันธ์ในแบบ ครอบครัว ( รักต่างเพศ: ครอบครัวของโต้ง ) และความสัมพันธ์แบบ ไม่เป็นครอบครัว ( รักร่วมเพศ : ครอบครัวของมิว และความสัมพันธ์ของมิวกับโต้ง )เราอาจมองได้ว่า หนังเริ่มต้นด้วยการให้ทั้งสองครอบครัวเผชิญความเจ็บปวด เมื่อแตง หายไป และ อาม่าตายลง โต้งกับมิวล้วนเผชิญหน้ากับการพลัดพรากจากคนอันเป็นที่รัก มิวเติบโตขึ้นในฐานะของเด็กชายผู้อ้างว้างโดดเดี่ยว ไร้เพื่อน และไร้คนเข้าใจ ในขณะที่โต้งเติบโตมาอย่างเก็บกด ความสัมพันธ์แบบชายหญิง ของพ่อกับแม่ ดูเหมือนจะเป็นครอบครัวแสนสุข แต่การยึดติดกับภาพครอบครัวแสนสุข ทำให้พ่อรับการหายไปของแตงไม่ได้ และแม่รับการเป็นเกย์ของโต้งไม่ได้



ความสัมพันธ์ทั้งสองชุด ล้วนได้รับความเจ็บปวดอย่างเท่าเทียม และในครี่งหลังหนังก็ให้ตัวละครอีกสองตัวเข้ามามีผลกับความสัมพันธ์สองชุดนี้อีกครั้ง เมื่อจูน เข้าไปรับบทแตง ให้กรสบายใจ และ หญิงก้าวเข้ามาในความสัมพันธ์ของมิวกับโต้ง หนังแสดงให้เห็นว่าทั้ง จูน และหญิง เอง ก็ล้วนต้องเผชิญหน้ากับความสัมพันธ์ไม่สมหวัง จูนเป็นตัวแทนของคนจากครอบครัวชายหญิงที่หนี ครอบครัวมา ในขณะที่หญิง เป็นตัวแทนของเด็กสาวที่ไม่สมหวังจากความรัก เพราะเธอรักชายที่มีความสัมพันธ์แบบรักร่วมเพศ (ไม่เป็นครอบครัว )



จูนกับหญิงเป็นเสมือนตัวแทนของคนสองคนที่เจ็บปวดจากความสัมพันธ์ทั้งสองรูปแบบ แต่เป็นสองคนนี้เองที่ให้คนในความสัมพันธ์มองเห็นความบกพร่องในรูปความสัมพันธ์และยอมรับมัน ที่สำคัญคือทั้งจูนและหญิง ทำไปในฐานะความรักที่ปลอดพ้นจากการครอบครองเป็นเจ้าของ



ตั๋วใบนี้ไม่ได้มีสำหรับฉัน แม้เขาจะขายให้ทุกคนได้เท่ากัน แต่รถขบวนนี้ไม่มีที่ให้กับฉัน จึงไม่มีสิทธ์เดินทาง



ในโลกที่มีเพศ ความรักถูกจำกัดอยู่ในเรื่องของชายหญิง แต่ รักแห่งสยาม กลับกล้าหาญพอจะเล่าเรื่องรักของรักร่วมเพศ และที่น่าดีใจไปกว่านั้นคือการเลือกเล่าเรื่องราวเหล่านี้ ในฐานะที่รักร่วมเพศเป็นพลเมืองโลก !



โดยปกติ เราอาจแบ่งหนังเกย์กันคร่าวๆ เป็น หนังที่ทำให้เกย์กลายเป็นตัวละครไร้เพศ พิจารณาจาก หนังไทยอย่างคู่แรด สืบย้อนไปจนถึง สตรีเหล็ก หรือกระทั่งหนังไทยทั่วไป ที่จัดวางตัวละครรักร่วมเพศในฐานะตัวตลกตามพระ ตามนาง หนังเหล่านี้ทำให้ เกย์ /กระเทย / รักร่วมเพศ มีสถานะเป็นตัวละครไร้เพศ ที่เต็มไปด้วยสีสันจัดจ้านของการพลิกเพศสภาพของตัวเอง การแสดงออกแบบสุดโต่ง เรียกเสียงหัวเราะจากผู้ชมแบบขายตรง ในขณะเดียวกัน เราก็อาจพบเจอหนังที่เลือก นำเสนอประเด็นเกย์ ทั้งในฐานะ ยูโทเปียของเกย์ อย่าง เพื่อน กูรักมึงว่ะ หรือ formula 17 หรือ แก๊งค์ชะนีกับอีแอบ กระทั่ง me myself ขอให้รักจงเจริญ หรือไม่ก็หนังแสดงภาพเจ็บปวดระทมทุกข์ของชาวเกย์ อย่าง เพลงสุดท้าย ไปจนถึง PHILADELPHIA หนังทั้งสองกลุ่มนี้ ล้วน ดึง -เกย์ – ออกมาจากโลกสามัญ ให้ -เกย์ โดดเด่น ทั้งในฐานะของคนไร้เพศที่สร้างสีสัน หรือ ฐานะ เกย์ คนชายขอบที่ไร้สิทธิ์ ไปจนถึงเกย์ในฐานะ บุคคลพิเศษ



หากในรักแห่งสยามกลับเลือกนำเสนอ ความรักของเกย์โดยแนบอิงอยู่กับโลกสามัญของชายหญิง โต้งกับมิว เป็นเพียงแค่ -รูปแบบหนึ่ง- ของ ความจริงในความรัก พวกเขารักกัน มีความสุข และความเจ็บปวด ระดับเดียวกันกับที่ กรรักสุนีย์ หรือหญิงกับมิว โดนัทกับโต้ง ฉากจูบในหนังเรื่องนำเสนอในความเงียบ โดยไม่เร้าอารมณ์เลยแม้แต่น้อย ไม่ต่างกับจูบแรกของเด็กสาวเด็กชาย โต้งกับมิว มีเลือดเนื้อในฐานะ มนุษย์ โดยไม่ใช่ มนุษย์ที่เป็นเกย์ ดังนั้นเอาเข้าจริงๆแล้ว หนังจึงไม่จำเป็นต้องประกาศตัวว่า เป็นหนังเกย์ เพราะความรักของเกย์ เป็นความรักที่สามัญไม่แตกต่างจากความรักชายหญิงทั่วไป หนังให้ความรักของเกย์เป็นเพียง อีกแบบจำลองหนึ่งของความรักเท่านั้น



ดังนั้น สิ่งที่น่าสนใจที่สุดคือ ผลตอบรับที่คนดูมีต่อหนังเรื่องนี้ การที่หลายต่อหลายคนออกอาการรับไม่ได้ กับฉากจูบของโต้งกับมิว เลยเถิดไปถึงการกล่าวหาว่าหนังเรื่องนี้หลอกลวงให้คนเข้าไปดูหนังเกย์ สะท้อนภาพที่ชัดเจนว่า สังคมไทยมีมุมมองต่อเกย์อย่างไร เสียงสะท้อนอันแหลมคมนี้มีคุณค่ากว่า การสัมมนาเพศที่สามใดๆ เพราะเราเห็นแล้วว่า หลายคน รับไม่ได้ มีทั้งทัศนคติที่มองว่ารักร่วมเพศคือความเบี่ยงเบน หนังจะทำให้เกิดการเลียนแบบ หรืออะไรต่อมิอะไร กลายเป็นข้ออ้างที่ถูกยกขึ้นมาปิดบังความจริงที่ว่า เราไม่ให้พื้นที่รักร่วมเพศ เว้นแต่จะกลายเป็นตัวตลก หรือไปอยู่ในพื้นที่ส่วนตัว (ดังที่เคยมีงานวัจัยว่า บาร์เกย์ เป็นสถานที่ส่วนตัว สำหรับรักร่วมเพศ มากกว่าจะทำหน้าที่เป็นบาร์จริงๆ )



เรื่องร้ายจะผ่านเพราะไม่มีคืนใดเป็นนิรันดร์



ที่น่าสนใจคือ จริงๆแล้ว การเป็นเกย์ อาจเป็นเพียงแค่ปัจจัยหนึ่ง สำหรับการอธิบายความสับสนของวัยรุ่นเท่านั้น



มะเดี่ยวกำกับเด็กวัยรุ่นได้ดี มาตั้งแต่ครั้งทำหนังสั้นอย่าง 2003 หรือ EARTHCORE เขาพูดถึงความเจ็บปวดและบาดแผลของการก้าวพ้นวัย ในหนังเหล่านั้น และในรักแห่งสยาม เขาพูดถึงมันอีกครั้ง ความโดดเดี่ยวของมิว หรือความสับสนของโต้ง ล้วนเป็นสิ่งที่เด็กวัยรุ่นในยุคปัจจุบันต้องประสบพบเจอไม่ใช่หรือ



หนังสะท้อนภาพการ -เป็นวัยรุ่นมันเหนื่อย- ออกมาได้อย่างน่าทึ่ง ความคาดหวังที่สุนีย์บอกกับมิว อาจฟังดูสามัญ แต่สำหรับโต้งกับมิว มันเป็นความกดดันมหาศาล ฉากสุดท้ายของหนังเมื่อโต้งตัดสินใจ บอกลามิว ในทางหนึ่งมันคือ การทำเพื่อแม่ ที่ทำให้โต้งต้องตัดสินใจเช่นนั้น เช่นเดียวกัน เรามองเห็นความโดดเดี่ยวเดียวดายของมิว ความยากลำบากของจูน ไปจนถึง ความเอาแต่ใจของโดนัท ทั้งหมดทั้งมวลเป็นภาพร่าง ความยากลำบากของการเป็นวัยรุ่น ที่ตัวละครในหนังเรื่องนี้ก้าวข้ามมา พวกเขาอาจผ่านมันได้ แต่แต่ละคนต้องพกพาบาดแผลเหล่านั้นติดตัวไปด้วยเช่นกัน



ถ้าบอกว่าเพลงนี้แต่งให้เธอ เธอจะเชื่อไหม



หนังเลือกใช้เพลง และสัญลักษณ์ อย่างน่าสนใจ แต่ละเพลงของหนังไม่ได้ถูกใส่เข้ามาเพื่อเพิ่มอารมณ์ฟูมฟายหรือเพื่อขายของ แต่อย่างใด อย่างที่อาม่าบอกมิวตั้งแต่ต้น ว่าสักวันเขาจะใช้เพลงในการสื่อความหมาย มะเดี่ยวก็ใช้เพลงเหล่านี้สื่อความหมาย โลกโดดเดี่ยวของมิว อยู่ในเพลง ticket (ในทางหนึ่งมันเป็นเสมือนการพูดถึงความเจ็บปวดของการเป็นเกย์ ไม่ต่างจากการมีตั๋ว แต่ขึ้นรถไฟไม่ได้) เพลงนี้เป็นเพลงที่มิวเขียนเป็นเพลงแรก ก่อนที่จะเขียนเพลงรักเมื่อเขาเปิดรับเอาโต้งเข้ามาในชีวิต อย่าง รู้สึกบ้างไหม เพลงเพียงเธอ เพลงเก่าของ สุกัญญา มิเกล กลายเป็นเพลงที่บอกความหมายชัดเจนของโต้งกับมิว ก่อนที่ คืนอันเป็นนิรันดร์ เพลงที่เพราะที่สุด แต่ถูกใส่เข้ามาอย่างจงใจที่สุด นำพาตัวละครคลี่คลายไป และ กันและกัน กลายเป็นเพลงที่เป็นเสมือนบทสรุปเรื่องทั้งหมด การเติบโตของโต้งและมิว ความรักที่ยังคงอยู่ และรอยแผลที่จะติดตัวไปกับแต่ละคน



ดั่งในใจความบอกในกวี ตราบใดยังมีรักย่อมมีหวัง



รักแห่งสยามอาจมีปัญหาในแง่ที่ว่า หนังเรื่องนี้ ยังคงเป็นหนังเล่าเรื่อง ที่มีฐานะเป็นหนังอย่างจริงแท้ การวางประเด็น และคลี่คลายบทสรุปทำไปในฐานะภาพยนตร์อย่างเต็มที่ ผลก็คือในฐานะของหนัง มันเล่าเรื่องได้อย่างสมจริงและทรงพลัง แต่ตัวละครในหนังยังคงความเป็น -ตัวละคร- ที่คาดเดาได้ ทุกการกระทำของแต่ละตัวละคร มีผลต่อประเด็นหลักของเรื่องหรือบทพูดสวยงามชนิด QUOTE ได้ ที่มาถึงแบบประดักประเดิด ในบางจังหวะ (แต่ไม่น่าเกลียดมากจนดูเหมือนจับยัดใส่ปาก เพียงแต่เรารู้สึกได้ ว่า คนทั่วไปไม่ได้พูดแบบนั้น) หรือสัญลักษณ์มากมายที่ปรากฏอย่างจงใจ ทั้งผึ้งที่คลานขึ้นมาจากแก้วน้ำ (ซึ่งมะเดี่ยว ทำบูชาครู คริสตอฟ คิชลอฟสกี้ ซึ่งจะว่าไปหนังเรื่องนี้มีส่วนคล้ายคลึงกับหนังของคิชลอฟสกี้มากทีเดียว หรือ สีของมิว และโต้ง การเลือกตุ๊กตาของโต้งในตอนท้าย หรือรูปถ่ายที่ไม่มีแตง ซึ่งตีความได้ทั้ง แตงที่ไม่อยู่แล้ว หรือแตงที่ไม่เคยไปไหน ในฐานะของคนที่ถ่ายรูปนั้นกับมือ แต่ที่น่าสนใจที่สุดคือ จมูกของตุ๊กตาไม้ ที่เข้ากันไม่ได้ ซึ่งหากจมูกที่หายไปคือลมหายใจที่สาบสูญ มันก็ไม่สามารถเชื่อมประสานให้กันได้ ไม่ต่างจากความสัมพันธ์ของโต้งและมิว



หนังเรื่องนี้ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นเพียงหนังส่วนตัวของผู้กำกับ มันมีสารที่แข็งแรง มากพอที่จะต้องใช้วิธีการแบบ -หนัง หนัง – ในการเล่าเรื่อง และในขณะเดียวกัน มะเดี่ยวก็เข้าถึงในสิ่งที่ทำอย่างเต็มที่ ผลลัพธ์ที่ได้จึงกลายเป็นหนังเล่าเรื่อง ที่มีประเด็นชัดเจน และทำได้ดีจนน่าทึ่ง



หนังได้การแสดงที่น่าประทับใจทั้งจากรุ่นใหญ่อย่าง สินจัย เปล่งพานิช และ ทรงสิทธิ์ รุ่งนพคุณศรี ที่แสดงความรู้สึกออกมาในระดับพอเหมาะพอเจาะ อาศัยเพียงการเคลื่อนไหวเล็กน้อย แสดงความรู้สึกมากกว่าจะพูดออกมาจริงๆ หรือรุ่นกลางอย่าง พลอย ไลลา ที่ไม่โดนสินจัยฆ่าตายคาจอ ในฉากที่เธอต้องเข้าฉากร่วมกัน หรือรุ่นเล็กๆที่ทำได้ดีอย่างทั่วถึง



ความรักของโต้งและมิว ของสุนีย์และกร ของจูนกับครอบครัวของโต้ง หรือของหญิงกับมิวและโต้ง ล้วนไม่ได้จบลงอย่างดงาม ทุกคนไม่ได้กลับมาหวานชื่นในชั่วคืนเดียว หนังแสดงให้เห็นแล้วว่า ทุกคนล้วนต้องเผชิญกับความเจ็บปวด และต้องก้าวข้ามมันไปให้พ้น คำ ตราบใดยังมีรักย่อมมีหวัง ไม่ได้หมายความแค่ การรักใครสักคนจะทำให้เรามีหวัง แต่มันหมายถึง -การมีความรัก- อยู่ในหัวใจ เมือเรายังรักได้ เจ็บเป็น ชีวิตของเราก็ยังมีความหวังพอจะไปข้างหน้า เช่นที่มิวพูดว่า ความรักมันทำให้เราเจ็บปวด (ทำให้เราเหงาเหี้ยๆ) แต่มันจะเป็นไปได้หรือที่เราจะอยู่ได้โดยไม่รักใครหรืออะไรเลย



หมายเหตุ : ตัวหนาทั้งหมดมาจาก เนื้อเพลงประกอบภาพยนตร์ รักแห่งสยาม

No comments: